รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 นำเสนอรายงานพิเศษ “ชัชชาติ”เสี่ยงสะดุด ปมแจกป้ายหาเสียง
ควบนำโด่งมาจนเกือบถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกทม. แต่ไปๆมาๆ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เต็งหนึ่งของรายการนี้ อาจเกิดรายการ “ตกม้าตาย” หรือ “สะดุดขา” ตัวเองล้ม
เหตุเพราะป้ายหาเสียงที่นายชัชชาติ และทีมงาน ออกแบบมาอย่างสุดชิคสุดคูล สามารถดัดแปลงให้กลายเป็นกระเป๋าได้ มีการกำหนดรอยปรุมาให้เรียบร้อย แค่พับป้ายตามรอยที่ไกด์ไว้ให้ ก็จะกลายเป็นกระเป๋าถือ
โดยข้างกระเป๋า ก็เป็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของนายชัชชาติ แจกความสดใสให้คนถืออีกต่างหาก
ไปๆมาๆ เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า ป้ายหาเสียงที่ว่านั้น ความเก๋อาจเป็นภัยให้ตัวนายชัชชาติเอง
เนื่องจากอาจเข้าข่ายการแจกของ ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
คนที่ออกมาชี้ในเรื่องนี้ เป็นนักกฎหมายนาม “เชาว์ มีขวด” ที่ให้มุมมองด้านกฎหมาย เกี่ยวกับป้ายที่ดัดแปลงเป็นกระเป๋าได้นี้ว่า มันเคยมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว
ทนายเชาว์ มีขวด เปิดประเด็นว่า การนำป้ายหาเสียงไปใช้ประโยชน์หลังการเลือกตั้งเสร็จ ไม่ได้ผิดกติกาอะไร
แต่การหาเสียงกับป้าย มีการอธิบายให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของป้าย มีแพทเทิร์นให้เสร็จสรรพ
แบบนี้จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือไม่
นายเชาว์ยกตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า มีคดีตัวอย่างที่พอเทียบเคียงได้ คือ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กกต.เพิ่งให้ใบเหลืองแก่ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ จากปมที่นายชานุวัฒน์ ให้ชาวบ้านเก็บป้ายหาเสียงไว้ใช้ได้
ไม่เท่านั้น นายอนุชา สิงหะดี ผู้ช่วยหาเสียงของนายชานุวัฒน์ ก็ถูกดำเนินคดีอาญาด้วย เพราะโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถเก็บป้ายหาเสียงของนายชานุวัฒน์ไปใช้ประโยชน์ได้ฟรี
เข้าข่ายเป็นการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่า จะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับนายชานุวัฒน์ เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม
ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็รับคำร้องไว้พิจารณาและนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 มีนาคม ทำให้นายชานุวัฒน์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.กาฬสินธุ์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
นายเชาว์ มีขวด ไม่ได้ฟันธงว่า กรณี “ป้ายหาเสียงกระเป๋า” ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ กกต.ต้องเป็นคนพิจารณา
“แต่บอกตรง ๆ ว่าเสียวสันหลังแทนครับ” ทนายรุ่นเก๋ากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ป้ายที่สามารถนำมาพับเป็นกระเป๋าได้ดังกล่าว นายชัชชาติเคยนำมาเป็นจุดขาย ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม นัยว่าป้ายหาเสียงที่หมดอายุ จะไม่กลายเป็นขยะแบบที่ผ่านมา เพราะคราวนี้สามารถ “รีไซเคิล” มาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
แต่ช่วงหลัง ดูเหมือนเจ้าตัวเริ่มไม่มั่นใจว่าป้ายรีไซเคิล จะสร้างมลพิษให้กับตำแหน่งผู้ว่าราชการกทม.ของตัวเขาหรือไม่ โดยให้สัมภาษณ์ว่า สั่งเก็บป้ายไวนิลพวกนี้มาหมดแล้ว บอกว่าเอามาทำเป็นกระเป๋าใช้กันเอง ในหมู่ทีมงานหาเสียง
อย่างไรก็ตาม กระเป๋าจากป้ายไวนิลของนายชัชชาติ ก็โดนท้วงติงจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายคน ไม่ว่าจะจากองค์กรกรีนพีซ และจากโครงการ Chula Zero Waste โดยออกมาสวนนายชัชชาติจังๆ
ด้วยการชี้ว่าป้ายไวนิลพวกนี้ มันเอามาทำกระเป๋าจริงๆ ไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดที่เนื้อวัสดุ ที่ไม่มีทางทำเป็นกระเป๋าที่ใช้งานได้จริง ทั้งเสื่อมไวและมีความสกปรกสะสม
ถึงอย่างไร ป้ายไวนิลก็ยังก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นขยะที่กำจัดทำลายยากวันยังค่ำ
หรือจะบอกอ้อมๆ ว่า ป้ายหาเสียงพับทำกระเป๋าได้ เป็นแค่มุขหาเสียง มุ่งสื่อให้เห็นถึงกึ๋นความ “กรีน” ของนายชัชชาติ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ สิ่งที่นายชัชชาติออกข่าวโฆษณาถึงสรรพคุณป้ายของตนไปแล้วนั้น จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซ้ำรอยคดีของ นายก อบจ.กาฬสินธุ์หรือไม่
ก็คงเป็นอย่างที่ทนาย “เชาว์ มีขวด” ชี้ไว้นั่นเอง แล้วแต่การตัดสินของ กกต.
แต่ที่แน่ๆ บรรดาคู่แข่ง คงจะหยิบยกปมปัญหานี้มาเป็นประเด็นทดสอบ “บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ว่าจะสะดุดขาตัวเองหกล้มหรือไม่?
——————————–
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1