หมอเตือน ปิดเทอมเสี่ยงเด็กจมน้ำสูงสุด !!! ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
หมอเตือน ปิดเทอมเสี่ยงเด็กจมน้ำสูงสุด !!! ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เด็กจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของเด็กไทย ซึ่งสูงกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2553-2562) โดยเฉพาะในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำไปแล้วถึง 8,349 คน เฉลี่ยปีละ 839 คน หรือวันละ 2.3 คน และในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและอยู่ในฤดูร้อน
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะพบอุบัติการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในช่วง10ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2562) เกิดการสูญเสียกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการจมน้ำไปแล้วถึง 8,349 คน เฉลี่ยสูญเสียถึงปีละ 839 คน หรือวันละ 2 คน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี สูงที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเดือนมีนาคม-พฤษภาคมและช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม จะพบการสูญเสียมากกว่าในช่วงอื่นๆ จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 7 ประกอบไปด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วง 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ.2560-2562) พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำคือ ร้อยเอ็ดจำนวน 34 คน ขอนแก่น จำนวน53 คน มหาสารคาม จำนวน 33คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 37 คน ทั้งหมดนี้ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนมากเสียชีวิตนอกบ้าน เช่น หนองน้ำ สระน้ำทางการเกษตรซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น การสร้างรั้ว การติดป้ายเตือน การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ รวมทั้งส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุขาดทักษะเอาชีวิตรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้อง
โอกาสนี้ เชิญชวนทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับชุมชนในการจัดการกับความเสี่ยง โดยเริ่มจาก 1.) สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในบ้าน ในชุมชน แล้ววางแผนให้เกิดความปลอดภัย อาทิ คลองคลประทาน ฝายกั้นน้ำ หนองน้ำ บ่อน้ำสาธารณะ แหล่งน้ำธรรมชาติ 2.) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน ได้แก่ ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง กำชับให้ผู้ปกครองเพิ่มความตระหนัก 3.) จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง อาทิถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกปิดฝา ไม้ และ 4.) สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ปกครองควรเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำ เช่น ความลึก ความตื้น และกระแสน้ำ และหากตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆชิ้น และ ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงเข้าหาฝั่ง
** บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ **
ข้อมูลจาก : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
หมายเลข 0430222818-9 ต่อ 611
https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php