



วนอุทยานภูแฝก (แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับเนินเขาไม่สูงนัก สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังมีพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้มะค่าโมง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ฯลฯ มีสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ง่าย เช่น กระรอก กระแต อีเห็น กระต่ายป่า เป็นต้น ภูแฝก ภูเขาขนาดใหญ่ที่มีความสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200-475 เมตร อยู่ในวนอุทยานภูแฝก วนอุทยานที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงห้วยฝา ใกล้ ๆ กับบ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ วนอุทยานภูแฝก หรือแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝก เป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยรอยเท้าไดโนเสาร์นั้นถูกค้นพบบนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง รอยเท้าฝังอยู่ในผิวหน้าของชั้นหินทรายที่แกร่งของหมวดหินพระวิหาร ซึ่งตามลำดับชั้นหินจะวางตัวอยู่ใต้ชั้นหินของหมวดหินเสาขัว ซึ่งเป็นชั้นหินที่พบกระดูกไดโนเสาร์มากที่สุดของประเทศไทย จากการพบรอยเท้าไดโนเสาร์ทำให้ทราบว่าชั้นหินทรายในบริเวณนี้ ในอดีตมีสภาพเป็นหาดทรายริมน้ำ เป็นที่ที่ไดโนเสาร์เดินผ่าน หรือเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณหาดทรายชุ่มน้ำนี้ รอยเท้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกคลื่นซัดให้ลบเลือน โดยอาจโผล่พ้นน้ำ ทำให้แดดเผาจนคงรูปร่างอยู่ หลังจากนั้นกระแสน้ำได้พัดพาเอาตะกอนมาปิดทับลงไปเป็นชั้นตะกอนใหม่ รอยเท้านั้นจึงยังคงอยู่ในชั้นตะกอนเดิม ต่อมาชั้นตะกอนแข็งตัวกลายเป็นหิน รอยเท้านั้นจึงปรากฏอยู่ในชั้นหินนั้น ปัจจุบันธรรมชาติได้ทำลายชั้นหินส่วนที่ปิดทับรอยเท้าออกไป เผยให้เห็นรอยเท้าที่ไดโนเสาร์ได้ทิ้งเอาไว้เป็นประจักษ์พยานถึงการมีตัวตนในอดีต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เด็กหญิงสองคนพร้อมด้วยผู้ปกครองไปกินข้าวในวันหยุด ได้พบรอยเท้าประหลาดกลางลานหินลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพาน หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยาพร้อมด้วยส่วนราชการและเอกชนในจังหวัดกาฬสินธุ์เดินทางไปสำรวจ จึงพบว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ประเภทเทอร์โรพอด 7 รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ 140 ล้านปี ปัจจุบันนั้นเห็นชัดเจนเพียง 4 รอย ที่ตั้ง : หมู่ที่ 6 บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์