นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,328 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 11,397 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำเพิ่มเติมได้รวมกันอีกประมาณ 40,740 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,728 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,032 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 12.09 ล้านไร่ หรือ 72% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 5.71 ล้านไร่ หรือ 71% ของแผนฯ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกกระจายตัวเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั่วประเทศดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยัง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ที่ได้รับอิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ล่าสุดที่สถานี E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด น้ำเริ่มล้นตลิ่งเมื่อเวลา 03.00 น.ที่ผ่านมา ทำให้เช้านี้มีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งประมาณ 15 เซนติเมตร ไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน แนวโน้มน้ำลดลง เนื่องจากปริมาณฝนทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้แจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงสถานการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว มีการเตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง ที่สะพานบ้านค้อเหนือ รวมไปถึงการตัดยอดน้ำผ่าน ปตร.บุ่งเบ้าเข้าสู่ลำห้วยวังหลวงในอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที มีการหน่วงน้ำในแม่น้ำชีไว้ที่เขื่อนร้อยเอ็ด และเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร ทำให้การระบายน้ำจากลำน้ำยังไหลลงสู่แม่น้ำชีเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดู
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ปัจจุบันระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง และยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนริมแม่น้ำโขง ทั้ง 7 จังหวัด (เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) แนวโน้มระดับน้ำที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เริ่มลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกหนักทางตอนบน จะทำให้ระดับน้ำในที่ไหลผ่านในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ลดลงตามลำดับในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม มีการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือน้ำหลาก ตามแผนที่กำหนดไว้ มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยง และกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำจุด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์