ชาวบ้านคำคาเหนือ ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ ทำพิธีสืบชะตาปลา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์น้ำ ในเขื่อนลำปาว ปล่อยพันธุ์ปลา 50,000 ตัว ลงเขื่อนลำปาว ด้านกำนันฯประกาศงดจับปลาฤดูน้ำแดงสานต่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำฤดูปลาวางไข่
วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่บริเวณท่าน้ำบ้านคำคาเหนือ ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ เป็นประธานในพิธีสืบชะตาปลาบ้านคำคา ประจำปี 2565 โดยมีนายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา นายดำรงค์ คงประพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านคำคาเหนือ หมู่13 และชาวบ้านร่วมประกอบพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับปลาแหล่งรายได้และอาหารของชาวบ้านทั้งนี้ นางสาวพรรณวดี มุศิริ เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ ได้มอบอุปกรณ์ดำเนินงานในกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ปลาวงตากแห้ง ให้กับกลุ่มประมงบ้านคำคาเหนือ เพื่อต่อยอดการทำอาชีพสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางสงฆ์ นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 50,000 ตัว ที่ประกอบด้วยปลาตะเพียนทอง 20,000 ตัว และปลากระแห 30,000 ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านคำคาเหนือ เนื้อที่ 50 ไร่ พร้อมประกาศเจตนารมณ์งดจับสัตว์น้ำ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม หาฝ่าฝืนพร้อมจับปรับในทันที เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและเพิ่มประชากรในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นแหล่งอาชีพประมง แหล่งอาหารชุมชนที่มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา กล่าวว่า บ้านคำคา 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 3 และ 13 มีพื้นที่ติดกับเขื่อนลำปาว ประชามติชองชุมชนได้เลือกเอาบริเวณท่าน้ำบ้านคำคาเหนือ หมูที่ 13 เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และจดทะเบียนก่อต้งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กรมประมง ในการทำแนวเขตวางทุ่น ที่หลบซ่อน หรือบ้านปลา การจัดตั้งกลุ่มแปรรูปปลา และการจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งในฤดูน้ำแดง หรือช่วงฤดูปลาวางไข่ จะเข้มงวดในการห้ามหาปลาในน่านน้ำ โดยจำกัดประเภทอุปกรณ์หาปลาได้บางชนิด อนุโลมหาปลาได้เช่น สุ่ม ไซ ฉมวก เป็นต้น จากการจับปรับจริงทำจนเป็นกฎหมู่บ้าน ระเบียบชุมชน ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับปลา ที่เป็นอาหารและอาชีพของคนในชุมชนมาช้านาน ได้ทำต่อเนื่องมาทุกปี นับว่าเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนที่จะต้องร่วมปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็ง