สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากในลุ่มน้ำยัง หลังมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยัง ผ่านระบบ Zoom ในวันนี้ว่า อิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ทำให้มีฝนตกชุกในช่วงสัปดาห์นี้ ส่งผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ รวมถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยปรับแผนการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกลงมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยัง หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะแม่น้ำยังที่สภาพของลำน้ำมีความลาดชันสูง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน (26 ก.ค. 64) สถานีวัดน้ำท่า E.70 อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ระดับน้ำวัดได้ 5.68 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.32 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 221.37 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น , สถานีวัดน้ำท่า E.92 อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด วัดระดับน้ำได้ 8.46 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.34 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 177.48 ลบ.ม./วินาที
ภาพรวมของแม่น้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เตรียมพร้อมตัดยอดน้ำในลำน้ำยัง โดยใช้ประตูระบายน้ำบุ่งเบ้า, ปตร. กุดปลาเข็ง และปตร.บ้านบาก ที่สร้างไว้เป็นตัวควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลเข้าไปเก็บยังแก้มลิงทั้ง 3 แห่ง (บึงบ่อแก บึงเกลือ กุดปลาคูณ ความจุเก็บกักรวม 30 ล้าน ลบ.ม.) ตัดยอดน้ำในอัตราประมาณ 10-20 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณวันละ 0.8-1.7 ล้าน.ลบ.ม.
โดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ของเกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ยังจุดเสี่ยงในพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้ประสานการบริหารจัดการน้ำร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 โดยได้ปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร จากเดิมระบายวันละ 20.7 ล้าน ลบ.ม. (240 ลบ.ม./วินาที) เพิ่มการระบายเป็น วันละ 26.3 ล้าน ลบ.ม. (304 ลบ.ม./วินาที) เพื่อเร่งระบายน้ำจากลำน้ำยัง พร้อมทั้งเดินเครื่องเครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง ช่วยเร่งการระบายน้ำไปลงแม่น้ำชีให้เร็วที่สุด
อนึ่ง สำนักงานชลประทานที่ 6 ยืนยันความพร้อมของอาคารชลประทานทุกแห่งสามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และได้กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย