เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านตำบลนาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พลิกผืนดินแห้งแล้ง สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนละกว่า 20,000 บาท หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ คลุมพื้นที่ 760 ไร่
จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน พบว่าที่บ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีการรวมกลุ่มปลูกพืชผักหลายชนิด ประสบความสำเร็จ หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณ โดยเน้นไม่ใช้สารเคมี ได้ผลผลิตบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดชุมชน รวมทั้งภายในโรงพยาบาลประจำอำเภอ สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนละกว่า 20,000 บาท
นายนารอง อุทรักษ์ อายุ 66 ปี ชาวบ้านบ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ที่ดินทำกินเป็นที่ ส.ป.ก. 23 ไร่ เดิมมีสภาพแห้งแล้ง ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ไม่มีรายได้อื่นเสริม ต่อมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งส่วนราชการใน จ.กาฬสินธุ์ ได้ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยมีพื้นที่รับบริการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่ เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 74 ครัวเรือน
เมื่อมีแหล่งน้ำ ตนจึงปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพใหม่ โดยตัดไม้ยูคาฯ จำหน่าย จากนั้นทำเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ โดยปลูกพืชผักสวนครัวและพืชตามฤดูกาลเกือบทุกชนิด เพราะเชื่อว่าเมื่อมีน้ำ ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งได้รับองค์ความรู้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ อบต.นาไคร้ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนการใช้น้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การบริหารจัดการแปลงเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี จนกระทั่งประสบความสำเร็จวันนี้ ซึ่งปลูกเอง เก็บกินเอง และนำผลผลิตจำหน่ายในหมู่บ้าน ตลาดชุมชน และโรงพยาบาลประจำอำเภอทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ปลูกเองสร้างรายได้เดือนละประมาณ 20,000 บาท ที่สำคัญมีอาชีพ มีรายได้ยั่งยืน
ด้านนายจุฬา ศรีบุตรตะ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณ กล่าวว่า เดิมสภาพพื้นที่โซนนี้ฤดูแล้งจะมีความแห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ จึงประสบภัยแล้งซ้ำซาก หลังจากที่รัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา สามารถบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ช่วงฤดูแล้งและตลอดปี วันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า น้ำบาดาลสามารถพลิกผืนดินแห้งแล้งเป็นพื้นที่สีเขียวด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ และเป็นแหล่งผลิตอาหารได้ตลอดปี
ในช่วงเริ่มต้นที่พลิกผืนดินแห้งแล้งเป็นแหล่งอาหาร พบว่าเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณได้ปลูกผักสวนครัวที่หลากหลาย เช่น บวบ สลัด มะละกอ พริก มะเขือ ผักกาด ผักชี กะหล่ำปลี และอื่นๆ ต่อมาได้เพิ่มช่องทางตลาดและเกิดรายได้เพิ่ม นำต้นกระท่อมเข้ามาปลูกเสริมในแปลงผักด้วย มีบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นคู่ค้า ทำสัญญารับซื้อผลผลิต ประกันราคาชัดเจน ซึ่งกลุ่มฯ เชื่อว่าจะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในอนาคต ถือเป็นผลสำเร็จจากการได้รับน้ำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลฯ
ด้านนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการน้ำบาดาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ
ลักษณะเป็นโครงการบ่อน้ำบาดาลขนาดความจุ 120 ลบ.ม./ถัง จำนวน 4 ถัง ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,120 วัตต์ จำนวน 4 ชุด ติดตั้งพร้อมเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ 4 เครื่อง ขุดเจาะน้ำบาดาลลึกจากผิวดิน 80 เมตร สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาได้มากถึง 12 ลบ.ม./ชั่วโมง รวมแล้วสามารถผลิตปริมาณน้ำได้กว่า 2 แสน ลบ.ม./ปี มีระยะส่งน้ำได้ไกลถึง 3 กิโลเมตร ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรรอบโครงการกว่า 760 ไร่ ถือเป็นโครงการที่ทันสมัยและขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย