ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ความผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างล้ำลึก บ่มเพาะการมองเห็นในความรู้สึกด้วยแรงขับภายในที่ตั้งอยู่เหนือจินตนาการ เป็นภาพวาดแห่งเจตจำนง ที่หมุนคว้างอยู่กลางมหาสมุทรแห่งใจที่โลดทะยานอยู่กับความคิดฝัน…มันอาจคือบทสรุปแห่งรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของชีวิตอันเป็นที่สุด…เริ่มต้น ลงท้าย ตลอดจนทวนกระแสระหว่างกลางของการเดินทาง ด้วยสำนึกคิดอันติดตรึง…คล้ายความฝัน”
ใจความอันเสนาะหู จากท่วงทำนองแห่งกวีนิพนธ์อันละเมียดละไมและงดงามดั่งฝัน ของชายหนุ่มผู้รักฝูงปลา ณ เบื้องต้น…เป็นอารมณ์กวีที่ชวนสัมผัส ไตร่ตรอง และ ซาบซึ้ง ในวิถีผัสสะที่สามารถนำเราทุกคนให้ได้พบกับ ขวัญของพลังใจที่ทั้งอิ่มเอิบ และ ทรงคุณ… เป็นประพันธกรรมที่โอบเอื้อด้วยภาษาแห่งรสชาติของมวลอารมณ์ความรู้สึก ที่ยากจะหลุดพ้น ชัดเจน โดดเด่น …เกินการวาดหวังใดๆ…
“ปลาที่ว่ายทวนฟ้า จึงตกลงมาพร้อมฝน” โดย”หทัยสินธุ สินธุหทัย”กวีหนุ่มโรแมนติก จากลุ่มน้ำลำปาวกาฬสินธุ์ คือรวมกวีนิพนธ์ที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่ออุทิศแด่พื้นที่ชีวิตอันเป็นสายน้ำแห่งบ้านเกิดของเขา ด้วยความวิจิตรการ และการหยั่งรู้ในความหมายอันจริงแท้ของธรรมชาติอันล้ำลึก…
“อ้อมกอดของฉันในค่ำคืนที่หมู่บ้านร่ำร้อง เสียงเอิ้นขวัญแว่วหลอนมาคล้ายความฝัน หลับตาเห็นบึงบัวสายสีแดงและนกกาน้ำ ก่อนฉันร่วงหายไปในดวงตากลมเศร้าของเธอ ฉันเคยวางหมุดหมายดวงจิตไว้ตรงขอบฟ้า แม้นเลือนรางเกินการวาดหวัง กระนั้นมันยังไกลพอให้พ้นจากฉันเอง กระทั่งเธอโผล่ขึ้นมาเหมือนดอกบัวดอกหนึ่ง โดดเด่นและชัดเจน หมุดหมายของชีวิตฉันจึงได้วางไว้บนตักเธอ”
ความคิดแห่งกวีนิพนธ์ของ “หทัยสินธุ” นอกจากจะงดงามด้วยสีสันแห่งตัวตนของธรรมชาติแล้ว…ภาวะเปรียบเทียบถึงบางสิ่งที่ให้เห็นถึงความร้อนแรงที่ชีวิตต้องประสบและประจักษ์ก็เป็นทางแห่งสายธารกวีของเขาที่น่าสัมผัสรู้และเพ่งพินิจ…เป็นปรารถนาแห่งอารมณ์ที่ไขขานถึงแก่นเรื่องภายในที่จักต้องจดจำ เปรียบเทียบ และ พันธนาการแห่งสมมติฐานของการรับรู้…
“ความชั่วร้ายร้อนแรงกว่าสายแดด ฤดูกาลเคยหยิบเอาอุณหภูมิเดือนมีนาคมใส่กรงออกไม้ ย้อมทัศนียภาพของผู้คนด้วยม่วงเสลาและชมพูตาเบบูญ่า ฟังสิเสียงจากที่ใดสักที่ พักดื่มน้ำเย็นไหมค่อยไปสู้ต่อ พร้อมกำปั้นชูขึ้นฟ้า ใครบางคนปิดหน้าด้วยหน้ากากลึกลับอยู่เบื้องหลัง ไม่มีความปลอดภัยในที่ชุมนุมชน เพราะใจคนร้อนกว่าอากาศ ดอกไม้อาจไม่จำเป็นเท่าหน้ากากอนามัย แต่กระนั้นโปรดหยิบดอกไม้สักกลีบ แบ่งคนข้างๆ ระหว่างเราปิดหน้าปิดตาออกสู้รบ”
กวีนิพนธ์ของ “หทัยสินธุ” ในแต่ละบทเคลื่อนขยายด้วยความรู้สึกและอารมณ์ของความมีอยู่ และเป็นอยู่ มันแนบเนากับสถานการณ์ของชีวิต ที่แวดล้อมไปด้วยปรากฏการณ์นานา อันเป็นผลจากทั้งความทุกข์และความสุข…ที่เป็นแรงขับของใจต่อใจซึ่งสื่อแสดงถึงเวิ้งสัมผัสภายในที่แยบยล
“ฉันเคยบอกเธอไว้แล้วนี่นาว่า ฉันยังคงเป็นผู้ร่อนเร่เซซัง รวงรังของฉันยังแวดล้อมด้วยเสียงร้องเพลงของเด็กๆ เป็นหัวหน้าเด็กน้อยแสดงละครตามลำห้วย เต้นรำในหุบเขา และเศร้าสร้อยอยู่ตามลำพัง ความคิดถึงนั้นแสนหวานนะว่าไหม แม้อาจกร่อนความมั่นใจคล้ายหยดน้ำย้ำผาหิน บางทีการทรมานหัวใจตัวเอง ก็เป็นการละเล่นอันชำนาญ ฉันยังคงเป็นพ่อค้าเร่แห่งสายลม เพื่อแลกเปลี่ยนเสียงหัวเราะไว้เสพกิน”
ตามนัยของการรังสรรค์ ความจริงของความรู้สึก ในรูปรอยแห่งกวีนิพนธ์นั้น คล้ายการปลูกสร้างตนเอง กระทั่งกลายเป็นนิยามอันดิ่งลึก ที่ไหวเต้นอยู่ด้านใน บางทีอาจไม่รู้สึก แต่ความเป็นบทกวี กลับเขียนและเขียนภาพเหล่านั้นด้วยบุคลิกและนามปากกาอันเปลี่ยวเหงาขึ้นเงียบๆ…
“ฉันเขียนนามปากกาไว้ท้ายบทกวีชิ้นแรก หัวใจโครมครามดั่งสายน้ำที่บ้านเกิด ฉันกลายเป็นชายในนามปากกานั้นยามเขียนบทกวี สร้างเสริมบุคลิกเปลี่ยวเหงาขึ้นเงียบๆ หัดสูบบุหรี่และสวมแว่นดำ เสพติดบรรยากาศและเริ่มตกหลุมรักใครๆ
บทกวีเขียนฉันขึ้นมา เพื่อให้ฉันร้องห่มร้องไห้และโกรธเคือง ฉันไม่รู้ว่าฉันเขียนบทกวีไปเพื่ออะไร เพื่อต่อสู้กับความชั่วร้าย หรือเพื่อฉีกทึ้งความน่าละอายรายรอบตัวเอง ฉันไม่รู้ แต่บทกวีเขียนฉันขึ้นมา จากความเศร้าสร้อยที่สุดของชีวิต”
…นี่คือน้ำคำของ “ใครบางคน” ที่ลอยล่องมาตามสายธารแห่งบทกวี…ทวนกระแสสามัญ สู่วิถีของการกลืนกลายอันทบซ้อน…ความเป็นกวีนิพนธ์ปรากฎอยู่ในเงาร่างของตัวตนแห่งภาษากวี มีด้านใน มีด้านนอก มีรอยต่อแห่งความฝัน และความจริง ที่ถูกฝังลึกอยู่กับแก่นสารสำนึกในภวังค์แห่งสัจนิยมมหัศจรรย์…ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดคือผลรวมของศิลปะแห่งวันนี้ เพื่อโครงสร้างแห่งจุดหมายอันยาวไกลของอนาคต เพื่อการแต่งแต้มตัวตนในตัวตนให้บรรลุ…
“เติมน้ำตาลให้ความขมและคิดไกลถึงนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์ คงมีใครบางคนในวันพรุ่งนี้ ที่พอจะตื่นเช้ามาเฝ้าเก็บดอกแคนา ที่ยังมองเห็นความอ่อนหวานชวนฝันในลายผ้าซิ่นตีนจก หากมีคนรักเขาเฝ้าภาวนาว่าเธอจะทัดผมด้วยดอกหางนกยูง”
…ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้อ่านกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ อย่างมีความหมายให้ต้องหยั่งคิดถึงตัวตนภายในอย่างจริงจังและล้ำลึกเช่นนี้…ทั้งหมดเป็นเรื่องที่แสนจะใกล้ตัว ซึ่งกวีได้ผสานความรู้สึกอันพิลาศพิไลของเขาตีความเตจำนงของตน ให้ฉายเป็นภาพกว้างของเวิ้งรู้แห่งจินตนาการอันไม่รู้จบรู้สิ้น…วิถีแห่งสัจจะที่ระบายสาระอยู่ในทุกบทตอนของกวีนิพนธ์ ล้วนควรค่าต่อการสัมผัสซ้ำ…เพื่อแนบเนาหัวใจให้เข้ากับหัวใจ….นิรันดร์…
จาก “บทกวีเขียนฉัน” มาสู่ .. “โปรดเหลือฤดูร้อนให้ดอกไม้” จนกระทั่ง “ปลาที่ว่ายทวนฟ้า จึงตกลงมาพร้อมฝน”…ทั้งหมดเปรียบดั่งดวงหน้าอันแท้จริงของผู้เป็นกวี ที่กล้าเผชิญกับสถานการณ์ของความรู้สึก ที่หลายๆขณะมันคล้ายกับแบบจำลองของหายนะ …แต่กลับอีกหลายขณะ…มันคือหัวใจแห่งตัวตนที่แท้ของใครคนหนึ่งในนามชองมนุษยชาติผู้ไหวไหวหวั่นระหว่างช่องว่างของชีวิตที่เป็นทั้งจริง และ…ลวง…
“คงพร่าเลือนเสมือนเปลวแดดกลางทุ่งแล้ง ฉันเห็นดอกแคนาลุกเป็นไฟทั่วเรือนต้น กี่ทอผ้าไหมหลอมละลายในเสียงประกาศ ผู้คนหลับตาเดินเรียงแถวลงสู่สนามรบ ขณะฉันยังติดด่านตรวจความทรงจำ”