วันอาทิตย์ ที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 17.11 น.
มหาดไทยน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าไทยเพื่อสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (8 พ.ค.65) ที่โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์ วิว อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดและอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) จุดดำเนินการที่ 2 โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นางกาญจนี รุจนเสรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนมและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม นางอ้อมขวัญ คงทัน รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม และรองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ดร. ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย คุณศิริชัย ทหรานนท์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้ก่อตั้งแบรนด์เรียร์เตอร์ อาจารย์ณัฐธิดา พละศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Craft Marketing อาจารย์ตะวัน ก้อนแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์และแฟชั่น อาจารย์อดุลย์ เพลินจันทึก อาจารย์ภราดร บัวหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใย อาจารย์นุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากจังหวัดนครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และสกลนคร รวม 60 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทในการที่จะให้พี่น้องเกษตรกรผู้ประสบปัญหาจากการประกอบสัมมาอาชีพที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศทางธรรมชาติ บางปีฝนทิ้งช่วง ทำให้ประสบภัยแล้ง บางปีฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประสบอุทกภัย ซึ่งในการโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่วัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม ทรงพบแนวทางทำให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยพระราชทานแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมยุยงและกระตุ้นทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทอผ้าเพื่อที่จะขายให้พระองค์ท่านก่อน เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้สมัครใจและเห็นว่า “ชีวิตยังมีหวัง” ทั้งนี้ ด้วยทรงพบว่าพี่น้องคนไทยในทุกพื้นที่มีสายโลหิตที่รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอผ้า นำไปสู่การจัดตั้งโครงการศิลปาชีพ เมื่อปี 2515 ถือเป็นโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแห่งแรก โดยทรงเน้นย้ำให้ประชาชนทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน รวมทั้งมีผู้นำต้นแบบในขณะนั้น คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ สวมใส่ชุดผ้าไทยในทุกวัน จนทำให้ประชาชนคนไทยในยุคนั้นนิยมสวมใส่ผ้าไทย อันเป็นแนวทางให้ในปัจจุบัน รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบและเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้รวมกลุ่ม นำเอาความสามารถในงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ทำขนม ทำอาหาร รวมตัวผลิตเป็นสินค้า OTOP หรือ One Tambon One Product มาจนถึงบัดนี้ ทำให้วงจรชีวิตของงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าไทย ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แต่นับเป็นโชคดีของพวกเราคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความตั้งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนเรื่องของศิลปะ แฟชั่น ภูมิปัญญาผ้าไทย ทั้งในประเทศไทยที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ด้วยพระกตเวทิตาคุณที่สูงยิ่ง จึงทรงเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในการประมวลแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาขับเคลื่อนช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ โดยพระราชทานแนวทาง ได้แก่ 1) ทรงกระตุ้นพัฒนาฝีมือภูมิปัญญาของช่างทอผ้าที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นเลิศและดีเด่น เป็นสุดยอดผ้าไทย ด้วยการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” 2) ทรงนำอุปสงค์ความต้องการสวมใส่ผ้าไทย (Demand) มากระตุ้นส่วนของอุปทาน (Supply) โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส และพระราชทานแนวความคิดว่า ทุกเพศทุกวัยจะใส่ได้ต้องมีการออกแบบที่ดีมากระตุ้นให้ช่างทอผ้าได้เรียนรู้ว่า “ความต้องการจะเพิ่มขึ้น ถ้าทอผ้า ตัดชุดได้ตรงกับความต้องการ” โดยนำแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่มีความสวยงาม มาดัดแปลงให้มีความร่วมสมัย สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดได้ เช่น ย่อลายให้เล็กลง ผสมลวดลาย และประการสำคัญ 3) พระราชทานแนวทางการใช้สีเอิร์ธโทน ซึ่งสามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ สร้างคอนทราสต์กับสีสันต่าง ๆ ได้อย่างสง่างาม ทันสมัย โดยทรงวิริยะอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้า กระทั่งจัดพิมพ์เป็นหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 4) ทรงเล็งเห็นถึง “ความยั่งยืน” ต่อโลกใบเดียวนี้ มีการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยทรงกระตุ้นปลุกเร้าให้พวกเราคำนึงถึงการใช้สีธรรมชาติ ไม่ใช่สีเคมี และปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมด้วยตนเอง เพื่อเกิดการถักทอผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไม่มีพิษต่อน้ำ พิษต่อดิน พิษต่อมือ พิษต่อคนสวมใส่ เพราะสิ่งใดที่เป็นเคมี จะปะปนแปลกปลอมไปด้วยสารพิษต่อร่างกายและโลกใบนี้ทั้งสิ้น
“พวกเราข้าราชการกระทรวงมหาดไทย มีความภาคภูมิใจและมีวาสนาที่ได้มาสนองงานพระดำริ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนาตามพระดำริ “ไม่ใช่การหยิบยื่นปลาหรือส้มตำให้พวกเรากิน แต่เป็นการกระตุ้น ปลุกเร้า เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนช่วยกันดึงเอาความรู้ความสามารถของพวกเราเองที่มีอยู่มาใช้ในการทำมาหากิน มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการจัดกิจกรรม Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญาในวันนี้ จะทำให้พี่น้องผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งเป็นขุนพลและความหวังในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย ได้นำเทคนิค องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยและเทคนิคการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ร่วมสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย สอดคล้องกับโครงการพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก อันถือเป็นการ Change for Good ให้กับผ้าไทย ภายใต้พระกรุณาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทุกลมหายใจของพระองค์นึกถึงพวกเราเสมอเพื่อ “พวกเราคนที่รักษาภูมิปัญญาผ้าไทย” ทุกคน จะมีรายได้จุนเจือครอบครัว เลี้ยงดูลูกหลานให้ได้มีอนาคต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นบุญของคนไทยที่เรามีองค์พระมหากษัตริย์ และเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกยุคทุกสมัยที่ทรงระลึกนึกถึงและห่วงใยพวกเราเหล่าพสกนิกรของพระองค์ จึงขอให้พี่น้องผู้ประกอบการผ้า ช่างทอผ้าทุกคน ได้ร่วมกันน้อมนำพระดำริด้วยการฝึกฝน พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อเป็นการถวายพระกำลังใจแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงข้าราชการมหาดไทยทุกคน ได้ช่วยกันดูแลเอาใจใส่แนวทางพระราชทาน และช่วยกันในการเผยแพร่ผ้าไทยให้อยู่ยั้งยืนยงคู่กับแผ่นดินไทย คู่กับโลกใบนี้ของเราตราบนานเท่านาน”
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณของคนไทยทุกคน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปณิธานในการฟื้นฟูอัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย และได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นการชุบชีวิตของคนทอผ้า ทำให้กี่ทุกกี่ใต้ถุนบ้านได้กลับมามีเสียงกระทบด้วยการทอผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน แม้จะกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ท่าน ทำให้พี่น้องผู้ประกอบการทอผ้า ยังคงมีรายได้จากอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
โอกาสนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้อัญเชิญพระนิพนธ์คำนำของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้จัดพิมพ์ในหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางด้านการอนุรักษ์ และการผลิตผ้าจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของไทยมาเป็นเวลากว่า 60 ปี ข้าพเจ้ามีความตั้งใจมั่นที่จะสืบสานและต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย ด้วยใจรักในงานศิลปะและชื่นชอบงานออกแบบเครื่องแต่งกาย ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณรีฯ” มอบให้แก่ช่างทอผ้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยได้ออกแบบให้แต่ละลวดลายบนผืนผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” นี้มีความหมาย เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายและผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัยเป็นสากล และข้าพเจ้ายังได้อนุญาตให้ช่างทอผ้าในทุกภูมิภาค สามารถนำลวดลายนี้ไปออกแบบและประยุกต์ใช้ได้ตามความคิดสร้างสรรค์อย่างกว้างขวาง ตามวิถีทางที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นตามแนวทาง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค สร้างรายได้ให้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน…..โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณช่างทอผ้าทุกคนและทุกกลุ่มจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่ได้ร่วมกันถักทอ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” กันอย่างสุดฝีมือ ผ้าแต่ละผืนเปรียบเสมือนบทบันทึกของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย หากแฝงไว้ด้วยรายละเอียดและเทคนิคการสร้างสรรค์ผืนผ้าสุดวิจิตรที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งแล้ว ยังงดงามด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ถูกฟื้นคืน”
“ขอแสดงความยินดีกับผู้มีโอกาสเดินทางมาเข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดและอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) ในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีที่ทุกท่านได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ มาพัฒนาฝีมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งพระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในการเชิญท่านเหล่านี้มาพัฒนาศักยภาพเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยตามแนวพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งห้องเรียนในวันนี้ เป็นห้องเรียนที่มีชีวิต เป็นความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกหลานอย่างยั่งยืน” ดร.วันดีฯกล่าวในช่วงท้าย