‘ร้านกาแฟเสรีไทย’ สร้าง ‘อาชีพ-รายได้’ น.ร.บ้านนาคู
ความฝัน และความตั้งใจของ โรงเรียนบ้านนาคู จ.กาฬสินธุ์ ในการสร้างพื้นที่ให้ทั้งคุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนคนในชุมชน ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งสร้าง “แลนด์มาร์กใหม่” ให้กับชุมชน กำลังได้รับการเติมเต็มให้กลายเป็นความจริง เพราะล่าสุด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการ “ร้านกาแฟสร้างอาชีพ” เป็นแห่งที่ 2 ให้แก่โรงเรียน ภายใต้การขับเคลื่อนมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED)
นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ฯ กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นของโรงเรียน ศักยภาพของพื้นที่ ประกอบกับแผนด้านต่างๆ ที่วางเอาไว้อย่างรอบด้าน ทั้งการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน การบูรณาการความรู้มาเป็นหลักสูตร และการพัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซีพี ออลล์ และซีพี รีเทลลิงค์ จึงสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านกาแฟ องค์ความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และชงเครื่องดื่ม อุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจร้านกาแฟสร้างอาชีพให้แก่โรงเรียนบ้านนาคู ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู และนักเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการรุ่นแรก
“โมเดลร้านกาแฟสร้างอาชีพ คือโมเดลที่สร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพตั้งแต่เยาว์วัย เปิดโอกาสให้คุณครู ผู้ปกครอง คนในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม และสามารถนำสินค้า OTOP มาวางจำหน่ายในร้าน หากร้านกาแฟสร้างอาชีพของโรงเรียนบ้านนาคูประสบความสำเร็จ อาจยกระดับโรงเรียนบ้านนาคู จากโรงเรียน Best Practice สู่โรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model กลายเป็นต้นแบบสำคัญให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีก 30,000 กว่าแห่ง เข้ามาศึกษาดูงาน และขอแนวทางการดำเนินโครงการ ไปปรับใช้กับโรงเรียนของตัวเองได้” นายธานินทร์กล่าว
สำหรับร้านกาแฟสร้างอาชีพ โรงเรียนบ้านนาคู จัดตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ “ร้านกาแฟเสรีไทย” ตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพใจกลาง อ.นาคู ติดถนนสายหลัก วางคอนเซ็ปต์ของร้านอย่างโดดเด่น นำประวัติศาสตร์ของพื้นที่บ้านนาคูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาใช้ในการตกแต่งร้าน ภายในร้านจะมีสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ตลอดจนสินค้า OTOP ของ อ.นาคู และอำเภอข้างเคียงใน จ.กาฬสินธุ์ อาทิ ผ้าไหม ตำเมี่ยง วางจำหน่าย ตัวร้านยังจัดตั้งเป็นสหกรณ์ให้คุณครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนปัจจุบัน ร่วมเป็นเจ้าของร้าน ด้วยการถือหุ้นสหกรณ์ในราคาเพียงหุ้นละ 10 บาท และได้รับปันผลหากมีกำไรจากการบริหารจัดการร้าน
นายสมรศักดิ์ วันโนนาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาคู เล่าว่า โรงเรียนได้นำโครงการร้านกาแฟเสรีไทยเข้าบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นด้วย เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ สอดคล้องกับโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยครูที่เป็นพี่เลี้ยงในโครงการ จะได้รับการอบรมทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการร้านกาแฟจากทางกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์ อย่างรอบด้าน จากนั้นนำมาถ่ายทอดให้แก่นักเรียนในช่วงเวลาที่ลดชั่วโมงเรียน หรือในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ขณะเดียวกันจะพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จัดเป็นคอร์สระยะสั้น ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการร้านกาแฟ และเปิดกว้างให้โรงเรียนอื่นเข้ามาศึกษาดูงานด้วย
น.ส.นันท์นภัส ภูมิรัง อาจารย์ผู้ดูแลโครงการร้านกาแฟสร้างอาชีพ โรงเรียนบ้านนาคู ในฐานะผู้จัดการร้านกาแฟ กล่าวเสริมว่า การคัดนักเรียนร่วมในโครงการภาคปฏิบัตินั้น เน้นนักเรียนชั้น ป.6 เป็นหลัก ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาชีพนั้น จะสอดแทรกเข้าไปทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้น ป.1-6 มีการแบ่งเวรผู้รับผิดชอบมาบริหารร้านกาแฟ ทั้งนักเรียน และครูทั้งโรงเรียน มีส่วนร่วมหมด ที่นี่จึงมีทักษะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับร้านกาแฟ ชงกาแฟกันได้ทุกคน
ปิดท้ายที่ น.ส.รัตนา วะชุม ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) บริษัท ซีพี ออลล์ฯ ที่ดูแลโรงเรียนบ้านนาคู กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ และคลุกคลีกับทางโรงเรียน ทุกฝ่ายต่างต้องการให้โครงการมีผลทั้งในด้านการพัฒนาการศึกษา ขณะเดียวกันก็ต่อยอดเรื่องธุรกิจสร้างอาชีพให้กับโรงเรียน และชุมชน ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน
“ทุกกลุ่มมีความสำคัญ และได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งหมด ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ และอาชีพ นักเรียนได้ฝึกเรื่องทฤษฎี และปฏิบัติ ครูมีการบูรณาการหลักสูตร และการสอน ให้นักเรียนมีความรู้ในรุ่นต่อรุ่น ผู้ปกครอง และคนในชุมชนก็มีโอกาสสร้างรายได้จากการนำสินค้า OTOP มาวางจำหน่าย อนาคตเราอาจไม่ได้ขายอยู่แต่ที่ร้านอย่างเดียว อาจทำโครงการดิลิเวอรีด้วย” น.ส.รัตนากล่าว
นับเป็นอีกโครงการดีๆ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอาชีพ และสร้างรายได้ ให้นักเรียน และชุมชน