กาฬสินธุ์ สาธารณสุขอำเภอนามน โชว์นวัตกรรม “ปลากระดี่กินลูกน้ำ” ลดปัญหา “ไข้เลือดออก” ช่วยลดผู้ป่วยลง ชาวบ้านพอใจคุมลูกน้ำได้ดี เตรียมวางแผนคุมระบาดใหญ่ในพื้นที่ ปี66
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
นายสุพจน์ แสบงบาล สาธารณสุขอำเภอนาบล จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอผลงานนวัตกรรม “ปลากระดี่กินลูกน้ำ” แก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2565 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า
ก่อนพัฒนานวัตกรรมปลากระดี่กินลูกน้ำ มีการทดลองประสิทธิภาพของปลาล่าเหยื่อบนผิวน้ำ 13 ชนิด พบว่า ปลาหมอสามารถกินลูกน้ำมากที่สุด 931.54 ตัวต่อวัน รองลงมา คือ ปลากระดี่ สามารถกินลูกน้ำได้ 184.5 ตัวต่อวัน และปลาบู่ สามารถกินลูกน้ำได้ 180.34 ตัวต่อวัน
ส่วนสาเหตุที่เลือกปลากระดี่มาเป็นนวัตกรรมลดไข้เลือดออกในพื้นที่ เนื่องจากปลากระดี่ตัวเล็กกว่าปลาหมอ หาได้ง่ายกว่า กินลูกน้ำได้เร็ว ถ้าลูกน้ำไม่มากวันหนึ่งก็กินลูกน้ำหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปลากระดี่ก็จะมีข้อจำกัดคือ คนต้องคอยดูแลจัดการตลอด ต้องคอยดูว่าน้ำใกล้เต็มโอ่งหรือไม่ หากเต็มโอ่งปลาก็จะกระโดดออก หรือหากลูกน้ำหมดเราก็ต้องคอยให้อาหารปลากระดี่ หากจะนำไปประยุกต์ใช้ อสม.ก็ต้องหมั่นตรวจดูว่าปลากระดี่ยังหลงเหลือหรือไม่ ปล่อยให้น้ำเต็มโอ่งไม่ได้
นายสุพจน์กล่าวว่า สำหรับการศึกษาวิจัยนวัตกรรมปลากระดี่กินลูกน้ำช่วยลดแก้ปัญหาไข้เลือดออกในพื้นที่ได้หรือไม่นั้น เป็นการดำเนินมาตรการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยดำเนินการทั้งตำบล ส่วนช่วงระบาดใหญ่ ซึ่งในพื้นที่นาบลของเราจะระบาดแบบปีเว้นปี คือ ระบาดในช่วงปีเลขคู่ เราก็จะดำเนินการทั้งอำเภอ
การดำเนินการเริ่มจากขับเคลื่อนนวัตกรรมปลากระดี่กินลูกน้ำจากอำเภอลงสู่ชุมชน สนับสนุนความต้องการของชุมชนในการใช้ปลากระดี่แทนสารเคมีทรายเทมีฟอส สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนในการออกหาปลากระดี่ร่วมกันแล้วนำมาแจกจ่ายในชุมชน
ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงปี 2562-2564 พบว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ อ.นามน ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 พบ 21 ราย ปี 2563 พบ 36 ราย และปี 2564 พบเพียง 5 รายเท่านั้น ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับปี 2564 ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 5 รายนั้น คิดเป็นอัตราป่วย 12.76 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังถึง 83.3%
นอกจากนี้ จากการทดลองนำปลากระดี่ไปใช้กินลูกน้ำในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 585 หลังคาเรือนช่วงปี 2562-2564 พบว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน (HI) มีค่าลดลงเช่นกัน คือ 9.82 , 6.52 และ 2.36 ตามลำดับ ขณะที่ค่าชี้วัดความชุกของลูกน้ำยุงลายต่อภาชนะ (CI) มีค่า 8.67 , 8.58 และ 2.36 ตามลำดับ
การทดสอบคะแนนความพึงพอใจภาพรวมต่อนวัตกรรมนี้ พบว่า ความพึงพอใจในปี 2564 เทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้นทั้ง 5 ด้าน ด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ประสิทธิภาพของนวัตกรรมปลากระดี่ควบคุมลูกน้ำได้ดีกว่าทรายเทมีฟอส
สำหรับปี 2565 ถือว่าไข้เลือดออกห่างหายไปเลย แต่ปี 2566 คาดว่าจะมีการระบาดก็อยู่ระหว่างการวางแผนให้ รพ.สต.ดำเนินการเรื่องปลากระดี่กินลูกน้ำอย่างต่อเนื่อง