เปิดประวัติที่มา “ไหมสมเด็จ” สุดงดงาม ลายอ่อนช้อย ต่อยอดจาก “ผ้าไหมแพรวา” ผ้าซิ่นที่ “เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี” สวมใส่ทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด
พฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 12.50 น.
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า @จันทร์เจ้า อรณภัค ได้โพสต์ภาพ พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พร้อมที่มาของผ้าไหมแพรวา “กลุ่มไหมสมเด็จ” ที่ท่านเจ้าคุณสวมใส่เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด โดยได้ระบุข้อความว่า ท่านเจ้าคุณ สวมผ้าไหมแพรวา “กลุ่มไหมสมเด็จ” ผ้าซิ่นลายนาคล้อมใบบุญและลายใบบุญล้อมนาค ทอด้วยฟืมที่แน่นเป็นพิเศษ เนื้อผ้าจะคม เนียน ลายจะนูนสวย ใช้ไหมชาวบ้านเลี้ยง และทอใส่กระสวยเพียง 2 เส้น ย้อมจากครามและสีเคมีโทนพาสเทลค่ะ
ผ้าไหมเกาะไหมสมเด็จ ไหมในดวงใจ ออกแบบลายโดย อดุลย์ มุลละชาติ ศิลปินโอทอปจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2559 ผ้าซิ่นเกาะไหมสมเด็จได้พัฒนาต่อยอดจากผ้าแพรวาโบราณที่มีความกว้างฟืมเล็ก เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนและกระแสนิยมการนุ่งผ้าไทย ทางกลุ่มมีการพัฒนามาขยายฟืมให้กว้าง 1 เมตร ใช้ฟืม 34-40 ชึ่งเป็นฟืมที่ใหญ่มาก ต้องใช้คนที่แข็งแรงมาทอ ผ้ามีลายตีนซิ่นตัวในผืนเดียว ลายจึงมีลายนาคชูช่อสน ลายตัวซิ่นลายกำแพงแก้ว (ซึ่งไหมสมเด็จเปลี่ยนชื่อใหม่) ชึ่งมีการออกแบบลายใหม่ตลอด เช่น ลายบัวพ้นน้ำ ลายทับทิมสยาม ลายประจำยาม มีทั้งการย้อมสีธรรมชาติ และย้อมด้วยสีเคมีโทนธรรมชาติ
ผืนนี้ใช้ไหมบ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงเอง ความพิเศษของไหมบ้านใส่นานๆไปผ้าไหมจะนิ่มพลิ้ว มีเรื่องราวน่าสะสม ผ้าที่ท่านเจ้าคุณพระใส่เป็นการทอเกาะขิด ซึ่งถี่มากแต่ลายเรียบๆ จะมีลายนาคในตัวผ้าซิ่นเพราะผู้หญิงไม่มีโอกาสได้บวชพระเหมือนผู้ชาย คนโบราณจึงนิยมมัดหรือจกลายนาคเข้ากับตัวซิ่นเผื่อจะมีชื่อลายนาคในผ้า เวลาไปวัดทำบุญจึงได้กุศล ผลบุญเหมือนผู้ชายบวชนาค ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายนาคค่ะ
กลุ่มไหมสมเด็จได้พัฒนาต่อยอดการทอผ้าจากบรรพบุรุษโดยพัฒนามาจาก “ผ้าไหมแพรวา” ไหมสมเด็จเลยนำลวดลายเดิมผสมลายใหม่ของทางกลุ่ม เช่น ลายใบบุญ ลายบัวพ้นน้ำ ให้เหมาะกับผู้สวมใส่และขยายหน้าฟืมขนาดใหญ่ขึ้น และเส้นยืนที่แน่นซึ่งการทอจะคล้ายผ้าแพรวา แต่เก็บลายใหม่เป็นลายทางนอนของฟืม ส่วนมากทอมาเป็นผ้าซิ่น เพื่อนำไปใส่ได้เลยหรือตัดเป็นชุดสำเร็จง่ายขึ้นการย้อมและทอ ส่วนมากย้อมสีธรรมชาติและใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น แก่นเซ แก่นขนุน ครั่ง ฝาง เปลือกประดู่ มะเกลือ หมักโคลน คราม
การใช้ไหมจะใช้ไหมบ้านซึ่งจะมีความงามพิเศษใส่นั้นนานไป ไหมบ้านจะนิ่มทิ้งตัว และมีมูลค่าทางศิลปะบนผืนผ้า รวมถึงผู้เลี้ยงไหม มีอาชีพส่งเสริมให้ชาวบ้านมีงานทำที่บ้าน..
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : จันทร์เจ้า อรณภัค