ชนภูไทมักนิยมใช้เป็นผ้าสไบเฉียงคลุมไหล่ซ้ายทับชุดประจำถิ่น โดดเด่นด้วยโทนสีสดดำ-แดง ใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าแพรวา ที่มีความงดงาม และความประณีตในการทอ มีลักษณะเด่นด้านลวดลาย สีสัน ความมีระเบียบ ความเรียบ และความเงางามของผืนผ้า
“นับเป็นเวลาร่วม 40 ปี ที่แพรวากาฬสินธุ์ มรดกหัตถกรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพบุรุษชาวภูไท ที่ถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 300 ปี จนถูกขนานนามเป็นราชินีแห่งผ้าไหม สืบเนื่องจากพระบารมีของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะของลวดลายผ้าไหม ที่ชาวภูไทได้แต่งกายมารอรับเสด็จ ครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาว อ.คำม่วง เมื่อปี 2520 และได้โปรดให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งทรงพระราชดำริ ให้นำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์อย่างงดงาม วิจิตร ส่งผลให้ผ้าแพรวามีชื่อเสียงที่เลื่องลือถึงความงดงามจนวันนี้”
นายวิทยา วัฒนวิเชียร สหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ย้อนรอยประวัติแพรวาราชินีแห่งผ้าไหมไทยที่ทั่วโลกรู้จัก…ความพิเศษที่ทำให้แพรวาแตกต่างจากผ้าไหมที่อื่นอีกประการคือ ทอจากเส้นใยไหม ที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า ในผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 11 หรือ 12 ลาย ใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ลวดลายที่ปรากฏจะประณีตเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งผืนผ้า พร้อมบรรจุลวดลายดั้งเดิมตามความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งต้นไม้ ใบไม้ พฤติ กรรมคน สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ แล้วเกิดแรงบันดาลใจนำมาสร้างสรรค์ลวดลายการทอผ้าไหม เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนภูไท ได้มากกว่า 100 ลวดลาย
“ปัจจุบันผ้าแพรวาของชาวภูไทถักทอ มีการประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับสภาพการของเศรษฐกิจและความต้องการของตลาด มีการเพิ่มช่องทางขายผ่านโซเชียล และด้วยด้านลวดลายที่ถูกถักทอด้วยมือบนผืนผ้าไหม มาจากวิถีชีวิตของชนภูไท มีวิถีการผลิตที่สามารถค้นคว้าได้ในทางภูมิศาสตร์ จึงได้รับมาตรฐาน “จีไอ” (GI) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นเครื่องรับประกันความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ผู้บริโภคในมาตรฐาน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม”
ทั้งนี้ สหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนกาฬสินธุ์ จำกัด อยู่ใน “โครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” มีสมาชิกกว่า 753 คน ครอบคลุมใน 4 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้ดูแล รวบรวมและจัดจำหน่ายผ้าไหมแพรวา สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของคนภูไท การสาธิตการผลิตผ้าไหม และเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโดยเฉพาะผ้าไหมแพรวา.