
ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอกราบคารวะดวงวิญญาณของญาแม่บุญมี คำบุศย์ ผู้บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองร้อยเอ็ดผ่านหนังสือ อดีตรำลึก ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และคารวะดวงวิญญาณของคุณตาวีระ วุฒิจำนงค์ ผู้ทรงคุณด้านการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองร้อยเอ็ด และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 1,800 – 2,500 ปีมาแล้ว สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องบินเป็นยานพาหนะที่ทันสมัยและสำคัญยิ่งต่อการคมนาคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ทว่าเมื่อร้อยปีก่อนเครื่องบินเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ผู้คนยังไม่เคยพบเห็น เครื่องบินจึงมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนในมณฑลร้อยเอ็ดเป็นอย่างมาก (มณฑลร้อยเอ็ด ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์) ในปี พ.ศ.2565 นี้สนามบินร้อยเอ็ดมีอายุครบ 100 ปี ผู้คนในจังหวัดร้อยเอ็ดรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินมาแสดงเมื่อ พ.ศ.2465 ส่วนรถยนต์คันแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีผู้นำมารับส่งผู้โดยสารและบรรทุกสินค้าในจังหวัดคันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2469
สนามบินร้อยเอ็ดยุคแรกเริ่ม ตั้งอยู่ในกองพันทหารม้าที่ 5 (ปัจจุบันคือ มณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงคราม ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด) ก่อสร้างขึ้นสร้างในยุคของพระมหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด คนที่ 2 เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2463 สำเร็จลงเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2465 เป็นสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ด ดังแถลงการณ์ของเสนาธิการทหารบก เรื่อง สเเดงการบินในมณฑลร้อยเอ็จ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39 หน้า 1158 วันที่ 30 กรกฎาคม 2465) ความว่า
© Matichon ภาพประกอบข่าว
…ด้วยเจ้าน่าที่ปกครองท้องถิ่นได้จัดการสร้างสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็จสำเร็จเรียบร้อยใช้ราชการได้แล้วทุกจังหวัด สมุหะเทสาภิบาลมณฑลร้อยเอ็จมีความประสงค์ขอให้นักบินนำเครื่องบินไปสเเดงให้พลเมืองดู เพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดการส่งเครื่องบินไปตามความต้องการ…
…ครั้นวันที่ 7 เมษายน 2465 นักบินได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวน 5 เครื่องไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็จโดยความสวัสดิภาพ ในวันนี้เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบินซึ่งนักบินได้นำไปนั้น
…วันที่ 8 ที่ 9 นักบินได้นำเครื่องบินขึ้นแสดงในอากาศให้ประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดดูและบินลงรับคนโดยสานขึ้นเครื่องบินพาไปในอากาศวิถี…
…เงินที่ข้าราชการและประชาชนในมณฑลนี้เต็มใจช่วยบำรุงกำลังทางอากาศ เนื่องจากสแดงการบินคราวนี้ คือ จังหวัดร้อยเอ็จ ๙๐,๙๗๑ บาท ๔๐ สตางค์ จังหวัดมหาสารคาม ๖๗,๗๖๓ บาท ๗๕ สตางค์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ๖๖,๕๖๕ บาท ๕ สตางค์ รวมทั้งสิ้น ๒๒๕,๓๐๐ บาท ๒๐ สตางค์
จำนวนเงินข้างบนนี้เปนพยานปรากฏชัดว่าประชาชนในมณฑลนี้เห็นประโยชน์ของการบินอันเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองอย่างแน่แท้ เมื่อคิดดูว่ามณฑลนี้เป็นมณฑลชั้นนอกมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ก็ยังได้เงินมากมายอย่างน่าพิศวงเพียงนี้ แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยบำรุงกำลังของชาติให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่สักแต่กล่าวด้วยวาจาว่า รักชาติ
© Matichon ภาพประกอบข่าว
การที่ได้ผลเห็นปานนี้ ก็เพราะพระมหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหะเทศาภิบาล ดำเนินการด้วยความสามารถและความตั้งใจเอื้อเฟื้อแก่การเปนอย่างดียิ่ง ประกอบด้วยข้าราชการและราษฎรเต็มใจช่วยเหลือโดยเต็มกำลัง ขอบรรดาผู้ที่ช่วยด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิดทั้งปวงจงได้รับความขอบใจอย่างสูงสุดของข้าพเจ้าทั่วกัน
อนึ่งขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่า ณะบัดนี้เครื่องบินของกรมอากาศยาน ได้ทำการรับส่งไปรษณีย์สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดร้อยเอ็จเป็นปรกติการแล้ว
ทั้งนี้ย่อมเปนผลให้ความสดวกแก่หัวเมืองมณฑลที่อยู่ห่างไกลไร้ทางคมนาคมที่จะใช้ยวดยานอย่างเดินเร็วได้ แต่ซึ่งกรมอากาศยานจะสามารถช่วยทำประโยชน์เช่นนี้และประโยชน์อย่างอื่นอีกหลายประการได้ก็ต้องอาศรัยสนามบิน มณฑลใดมีสนามบินไว้มากเเห่ง ก็ยิ่งจะมีทางได้รับประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ควรเปนเครื่องเตือนใจว่าเครื่องบินนั้นมีประโยชน์เพียงไร ขอจงช่วยกันบำรุงกำลังของชาติทางอากาศให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปเทอญ
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๕๖๔
บรพัตร์
เสนาธิการทหารบก
การที่ประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินให้กับทางราชการ เพื่อเป็นกำลังทรัพย์บำรุงกำลังของกองทัพอากาศส่วนหนึ่งในการก่อสร้างสนามบิน ได้เงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ เมื่อการก่อสร้างสนามบินได้เสร็จเรียบร้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้แจ้งความประสงค์ต่อกระทรวงกลาโหมขอให้นักบินนำเครื่องบินไปแสดงให้พลเมืองดูเพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน ในวันที่ 7 เมษายน 2465 นายร้อยเอกหลี สุวรรณานุช นายหัวหน้านักบิน ได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 เครื่อง (ประวัติกองทัพไทยในรอบ 200 ปี พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2525.) ไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบิน ประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้มีผู้คนเข้ามาดูเครื่องบินและมาเที่ยวงานเปิดสนามบินอย่างไม่ขาดสาย ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43 – 44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า
© Matichon ภาพประกอบข่าว
“พอวันที่เครื่องบินมาลงสนามบินเป็นครั้งแรก มีคนมาดูมืดฟ้ามัวดินบริเวณทุ่งทางเหนือเมืองตามริมห้วยมีคนเต็มไปหมด เพราะมาจากจังหวัดใกล้เคียงก็มาก ทางการกลัวคนจะเข้าไปใกล้ในสนามจึงเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและทหารทั้งหมดยืนรอบสนามเพราะกลัวจะเกิดอันตราย เพราะทุกคนไม่เคยเห็นว่าเครื่องบินหรือ “เฮือเหาะ” ที่คนสมัยนั้นเรียกเป็นอย่างไรจึงอยากเห็นและอยากเข้าไปดูใกล้ แต่ก็ได้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆ เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ เคยได้ยินแต่ในนิยายว่าคนเหาะได้จึงอยากจะเห็นมาก
แม่ของข้าพเจ้าก็อยากดูเหมือนกัน จึงอุ้มลูกคนเล็กและจูงคนกลางข้าพเจ้าเดินตามหลังและถือตะกร้าเล็ก ๆ มีขวดน้ำและห่อข้าวเดินผ่านบ้านนายทหารราบ ท่านถามว่าจะพาลูกไปไหน แม่ของข้าพเจ้า ว่าจะไปดูเครื่องบิน ท่านบอกว่าอย่าไปเลยคนมากดูที่บ้านก็เห็นทั้งแดดร้อนด้วย เพราะเขาบินวนให้คนดู แม่ของข้าพเจ้าตอบว่า “ดิฉันกลัวจะไม่เห็น” ครั้นเดินไปถึงหน้ากองพลยังไม่ถึงสนามบินก็ไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะคนแน่นมาก พอถึงช่วงบ่ายเครื่องบินก็มาถึงมีประมาณ 6 – 7 เครื่องเห็นจะได้พอมาถึงก็บินวนรอบเมืองหลายรอบ ทุกคนที่เห็นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ต่างก็ตกใจและกลัวเครื่องบินจะตกใส่ ก็วิ่งหลบกันอย่างอลหม่าน คนแก่ ผู้หญิง และเด็กก็ร้องไห้กันอย่างเซ็งแซ่ บางคนร้องไห้เพราะกลัว แต่ส่วนมากร้องไห้เพราะปลื้มปีติและมหัศจรรย์ เพราะเคยได้ยินแต่ในนิยายว่ายนต์เหาะไม่คิดว่าจะได้เห็นจริงๆ ก็เลยร้องไห้คิดถึงพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วไม่ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ ต่างก็มองดูเครื่องบินและนักบินอย่างพิศวงและมองนักบิน เป็นคนที่เก่งอย่างยิ่งบางคนก็ยกมือไหว้และรุมล้อมมาดูกันอย่างแน่นขนัด ทหารต้องกันไว้ให้ดูห่างๆ เครื่องบินก็บินขึ้นลงทุกวันก็ดูทุกวันไม่เบื่อ เครื่องบินจะอยู่กี่วันข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ แล้วก็กลับไปเพราะไม่มีโรงเก็บและบ้านพักทหารต้องสร้างอีกต่อหนึ่งจึงกลับมาอยู่
© Matichon ภาพประกอบข่าว
เมื่อเครื่องบินกลับแล้วทางการจึงประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรเอาสัตว์เข้าไปเลี้ยงในสนาม คือเขียนว่า “ห้ามปล่อยช้างม้าโคกระบือเข้ามาเลี้ยงในสนามจะปรับตัวละ 4 บาท” คนกลัวถูกปรับเพราะไม่มีเงินจะเสีย ค่าปรับไหมเพราะเงิน 4 บาท ในสมัยนั้นหายากมากหาทั้งปีก็แทบจะไม่ได้ หญ้าจึงขึ้นสูงถึงเอวถึงอกผู้ใหญ่ จนต่อมาอีกสองปี เมื่อโรงทหาร โรงเก็บเครื่องบิน และบ้านพักนายทหารเสร็จจึงประกาศให้ราษฎรเอาโคกระบือมาเลี้ยง รวมทั้งโคหลวงของทหารพาหนะมาเลี้ยงในสนามหญ้าจึงหมด และให้ทหารบกซ่อมสนามอีกเครื่องบินจึงลงได้ คนก็ดูเขาขึ้นลงอยู่เช่นเดิม และคนบ้านนอกก็มานั่งดูอยู่เสมอเมื่อมีธุระมาในเมือง”
การที่ประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ด (ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ได้เต็มใจช่วยกันบริจาคทรัพย์บำรุงกำลังทางอากาศเป็นจำนวนเงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ กระทรวงกลาโหมจึงประกาศคุณงามความดีของประชาชนมณฑลร้อยเอ็ด โดยจารึกอักษรไว้ที่เครื่องบินชนิดเบรเกต์ (Breguet 14B) ของกรมอากาศยานสำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆ จำนวน 9 ลำ ว่า มณฑลร้อยเอ็ด 1 ถึง 9 เป็นการมอบเครื่องบินให้แก่กระทรวงกลาโหมจำนวนมากที่สุดของประเทศในเวลานั้น (วีระ วุฒิจำนงค์, 14 เมษายน 2557) จากความดีความชอบนี้เอง มหาเสวกตรี พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ด ได้รับพระราชทานยศทหารบกเป็น พันโทพิเศษ แห่งกรมอากาศยาน
© Matichon ภาพประกอบข่าว
นอกจากเครื่องบินมณฑลประจำมณฑลร้อยเอ็ดทั้ง 9 ลำแล้ว ยังมีเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่สำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆ มีชื่อว่า ขัติยะนารี ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43 – 44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า “หน้าที่หลักของเครื่องบินก็คือเดินเมล์อากาศจากกรุงเทพฯ โคราช ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม อุบลราชธานีและอุดรธานี ข้าพเจ้าเคยเห็นเครื่องบินพยาบาลมาลงที่สนามบินเป็นสีขาวมีกากบาทสีแดง ลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดาชื่อ ขัติยะนารี ในว่าบริจาคโดยแม่หญิงขอนแก่นนำโดยคุณหญิงภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนชักชวนเรี่ยไร”
© Matichon ภาพประกอบข่าว
การเดินอากาศไปรษณีย์กับการแพทย์และสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2465 ได้มีการประชุมกันของ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและเจ้ากรมอากาศยาน ที่ห้องประชุมเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เพื่อตกลงเรื่องจัดการบินไปรษณีย์ ผลการประชุมเห็นชอบด้วยกระแสดำริของเสนาธิการทหารบก คือกรมไปรษณีย์โทรเลขมีหน้าที่ในการจัดการไปรษณีย์ของชาติ โดยกรมอากาศยานเป็นผู้ช่วยในการพาหนะ การจัดการบินไปรษณีย์ได้จัดในมณฑลที่มีการคมนาคมช้ามาก่อนตามลำดับขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1 สายนครราชสีมา ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ถึงอุบลราชธานี
ขั้นที่ 2 สายนครราชสีมา ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี ถึงหนองคาย
ขั้นที่ 3 สายนครราชสีมา ผ่านชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ถึงพิษณุโลก
ขั้นที่ 4 พิจารณาจัดในมณฑลพายัพต่อไป
© Matichon ภาพประกอบข่าว
ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2465 กรมอากาศยานร่วมมือกับกรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดสายการเดินอากาศไปรษณีย์ สายที่1 เป็นการทดลองในเส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตามพระดำริของเสนาธิการทหารบก โดยเครื่องบินที่ใช้ทำการขนส่งพัสดุทางอากาศคือเครื่องบินชนิดเบรเกต์ โดยเริ่มเที่ยวบินแรก ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2465 เวลา 8.00 น.เครื่องบิน ลำที่ 1 ออกจากนครราชสีมา ไปยัง มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เครื่องบินแต่ละลำดังกล่าวได้บินต่อไปยังอุบลราชธานีและนครราชสีมาตามลำดับ ในสัปดาห์ต่อไปทุกวันอังคาร เวลา 8.00 น.จะมีเครื่อง 1 ลำ ออกจากสนามบินอุบลราชธานี กลับมายังร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครราชสีมา
© Matichon ภาพประกอบข่าว
การบินไปรษณีย์สายที่ 1 กิจการได้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ “จากคำบอกเล่าของยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว เล่าว่าเมื่อครั้งที่เครื่องบินอากาศไปรษณีย์มาลงจอดที่สนามบินมหาสารคาม วันนั้นป้าของคุณยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว ได้มีอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงจะรีบไปรักษาให้ทันท่วงทีที่โรงพยาบาลค่ายประเสริฐสงคราม จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ในสมัยนั้นรถยนต์ยังไม่มีและระยะเวลาการเดินทางจะล่าช้า จึงได้ขอใช้บริการเครื่องบินให้พาไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลค่ายประเสริฐสงคราม จังหวัดร้อยเอ็ด” (สัมภาษณ์ ทองเลี่ยม เวียงแก้ว อายุ 90 ปี 9 มีนาคม 2558)
การเดินอากาศไปรษณีย์ได้ประโยชน์ต่อทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย เพราะสิ่งที่มาพร้อมเครื่องบินคือเครื่องเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคต่างๆ จากกรุงเทพมหานครมายังสถานพยาบาลในมณฑลร้อยเอ็ด ทำให้การรักษาหรือป้องกันโรคในมณฑลร้อยเอ็ดรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เป็นการคมนาคมที่เป็นประโยชน์ต่อทางด้านการแพทย์อย่างมากในเวลานั้น
ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ประกาศเปลี่ยนจากการทดลองเป็นการเดินอากาศไปรษณีย์ประจำ จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม” แจ้งความ ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2465 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 39 หน้า 902 – 903 วันที่ 2 ก.ค. 2465) ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้รับสนามบินเอาไว้ใช้ในราชการเรียบร้อยแล้วและเริ่มใช้งานการเดินอากาศประจำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466
ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2466 กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการเดินอากาศไปรษณีย์สายที่ 2 ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานีและหนองคาย โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2466
พ.ศ. 2469 เดือนธันวาคม จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลภาคอีสานและมณฑลนครราชสีมา พระองค์ได้ขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดนครราชสีมามาลงที่สนามบินจังหวัดมหาสารคาม ดังในรายงานตรวจราชการมณฑลภาคอีสานและนครราชสีมา ส่วนว่าด้วยการเมืองและการพรรณนาทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2469 ว่า…แทนที่จะไปมัวเดินทางเกวียนอยู่ตั้ง 10 วัน ทั้งมีนิยมว่าในการที่จะถือเงินทองจำนวนมากไปมา ไปทางเครื่องบินเป็นที่ปลอดภัยดีกว่าไปทางเกวียน มีข้อแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในภาคอีสานนี้ราษฎรรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินได้ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ พ.ศ.2465 แล้ว ไม่ช้านักก็เดินอากาศไปรษณีย์ แต่รถยนต์เพิ่งได้มีขึ้นมาเป็นครั้งแรกต่อใน พ.ศ.2466….(บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2470)
พ.ศ.2472 เมื่อกรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟสายจังหวัดนครราชสีมา – อุบลราชธานีขึ้น การคมนาคมระหว่างจังหวัดทั้งสองพ้นมีความสะดวกสบาย การส่งไปรษณีย์ไป – มาได้ทุกวัน กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้เลิกการบินไปรษณีย์สายที่ 1 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2472 เป็นต้นมา ต่อมาปี พ.ศ.2474 เมื่อกรมอากาศยานได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม ให้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์และมอบให้กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมดำเนินการต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2474 สนามบินในมณฑลร้อยเอ็ด จึงได้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์ตั้งแต่บัดนั้น
พ.ศ.2473 มีสตรีชาวอเมริกาชื่อ นางสาวเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ได้ขับเครื่องบินมาลงที่สนามบินร้อยเอ็ด ในบันทึกของญาแม่บุญมี คำบุศย์ หน้า 43 – 44 ได้เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า …ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2473 ก็มีสตรีชาวอเมริกาชื่อ นางสาวเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ที่มีความสามารถขับเครื่องบินส่วนตัวชนิดเบรเกต์ปีกสองชั้นจากทวีปอเมริกามาลงที่ทวีปออสเตรเลียแล้วบิน ต่อมาลงที่ดอนเมือง กรุงเทพฯ จะแวะที่ไหนมาบ้างข้าพเจ้าไม่ทราบ ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์ ชาวบ้านชาวเมืองอยากดูเธอ จึงมีคนไปต้อนรับเป็นจำนวนมาก เธอมาถึงสนามบินร้อยเอ็ดเวลา 11 นาฬิกา เมื่อเครื่องบินลงสนาม พวกทหารช่างของกองบินเราก็เข้าไปตรวจเครื่องบินและเติมน้ำมันให้ คนที่เป็นล่ามพูดกับเธอคือดาบเต็ง ต้นเปรมไทย นายทหารในกรมทหารนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ก็คือภรรยานายทหารที่มาให้การต้อนรับเธอ พวกชาวบ้านผู้หญิงดีใจมากบางคนร้องไห้เพราะความสงสารเธอ ซึ่งทุกคนรักและยกย่องเธอมาก ต่างอวยพรให้เธอถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย ซึ่งเธอก็ตอบผ่านล่ามว่าขอบคุณที่ให้พรเธอพักอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าก็บินต่อไป และเธอจะไปลงฮานอยแต่จะแวะเติมน้ำมันที่เวียงจันทน์ ต่อไปก็คงเข้าจีน รัสเซีย ยุโรป และกลับอเมริกา เธอคงเป็นลูกคนมั่งมีจึงซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญมากเป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้วข้าพเจ้ายังรำลึกถึงเธออยู่เสมอ อายุของเธอในขณะนั้นคงจะประมาณ 24-25 ปี ผิวขาว ผมสีน้ำตาล ตาสีน้ำตาล
มิสเอมีจอห์นสันเธอเหินเหาะ เหินจำเพาะข้ามทวีปรีบผันผาย
จากอเมริกาสู่แดนไกลแม้นใช่ชาย สู่ออสเตรเลียตามมุ่งหมายได้เช่นกัน
แล้วบินมาถึงไทยได้สำเร็จ ถึงร้อยเอ็ดเราต้อนรับขมีขมัน
พวกผู้หญิงดีใจร้องไห้พลัน อวยพรให้เธอนั้นจงปลอดภัย
ขอยุติเพียงเท่านี้ อยากให้ท่านทั้งหลายทราบว่าผู้หญิงเก่งก็มีมานานแล้ว….
สนามบินร้อยเอ็ดในปัจจุบัน
ปัจจุบันสนามบิน ยังถูกใช้งานในมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงครามอยู่เช่นเดิม ส่วนการบินพาณิชย์จังหวัดร้อยเอ็ด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2532 ท่าอากาศยานร้อยเอ็ดตั้งอยู่เลขที่ 135 หมู่ 2 ถนนร้อยเอ็ด – โพนทอง (ทางหลวงหมายเลข 2044) ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวเมือง 11 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ให้บริการประชาชนในพื้นที่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร และมุกดาหาร
บรรณานุกรม
กองทัพไทย. ประวัติกองทัพไทยในรอบ 200 ปี พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2525.
กองทัพอากาศ. ประวัติกองทัพอากาศไทย พ.ศ. 2456- 2526. กรุงเทพฯ : ข่าวทหารอากาศ, 2528.
เติม วิภาคพจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2542.
วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๒
อดีตรำลึก. บุญมี คำบุศย์. กรุงเทพฯ: นำอักษรการพิมพ์. 2441 พิมพ์แจกเนื่องในงานวันเกิดครบ 7 รอบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541.
เอกสารจดหมายเหตุ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบิน
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม. เล่มที่ 39 หน้า 902- 903 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 .
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา. คำแถลงการณ์ของเสนาธิการทหารบก เรื่อง สเเดงการบินในมณฑลร้อยเอ็จ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39 หน้า 1158 วันที่ 30 กรกฎาคม 2465)
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. (2470).
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง รับเงินบำรุงกำลังทางอากาศเนื่องแต่คราวสแดงการบินในมญฑลร้อยเอ็จ วันที่ 15 ตุลาคม 2465 เล่ม 39 หน้า 1962
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหาร
แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด ในท้องที่อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พุทธศักราช 2483 วันที่ 22 ตุลาคม 2483 เล่ม 57 หน้า 596
สัมภาษณ์
พระครูพุทธิสารชยากร วัดชัยจุมพล จ.มหาสารคาม
คุณยายทองเลี่ยม เวียงแก้ว อายุ 97 ปี (ปัจจุบันท่านยังสุขภาพแข็งแรงดี)
รศ.ธีระชัย บุญมาธรรม
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ.2565