หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภา และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 ใช่ว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
มีมติสั่งออกเสียงลงคะแนน อบจ.ใหม่
โดยสั่งยกเลิกการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. จำนวน 46 หน่วยเลือกตั้ง การเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 15 หน่วยเลือกตั้ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภา และนายก อบจ. จำนวน 3 หน่วยเลือกตั้ง โดยสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว จำนวน 18 จังหวัด
ในวันอาทิตย์ที่ 7 ก.พ.2564
โดย 18 จังหวัด ที่มีการเลือกตั้งใหม่ ประกอบด้วย นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ อ่างทอง พังงา ชุมพร นราธิวาส นครศรีธรรมราช ลพบุรี นครสวรรค์ สระแก้ว ระยอง กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อุตรดิตถ์ อุดรธานี และอุบลราชธานี
ในส่วนจังหวัดที่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งนายก อบจ.แล้ว 29 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท นครนายก สมุทรสงคราม สิงห์บุรี อุทัยธานี กระบี่ ปัตตานี สตูล พะเยา พิษณุโลก ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ แพร่ สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู สุรินทร์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุดรธานี จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี
ที่เหลืออีก 47 จังหวัดที่รอลุ้นว่าจะถูกให้เลือกตั้งใหม่เพราะเหตุทุจริตหรือไม่ ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามามาก จึงมีแนวโน้มที่หลายจังหวัด กกต.อาจจะมีคำสั่งให้เลือกตั้งนายก อบจ.รอบใหม่
อย่างไรก็ตาม การที่ กกต.ได้กำหนดให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ โดยมีข้อกำหนดว่า “ห้ามมีการหาเสียง” เพราะพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 64 (5) บัญญัติไว้ว่า “กรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่ กกต.จะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม”
ซึ่งการออกคำสั่งให้ลงคะแนนใหม่ ไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมที่จะต้องมีการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งใหม่ แต่ครั้งนี้ผู้สมัครเดิมทุกคนยังอยู่ครบ ไม่ได้มีคนถูกตัดสิทธิ หรือโดนใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงแต่อย่างใด
ส่วนจังหวัดที่ต้องมีการลงคะแนนใหม่ในส่วนของนายก อบจ.นั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ชนะในครั้งที่ผ่านมามีเสียงค่อนข้างขาด ต่อให้ลงคะแนนใหม่ก็ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเช่น ที่ จ.สมุทรปราการ ที่คุณตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย ชนะคู่แข่งที่ได้อันดับสองกว่าแสนคะแนน ซึ่งที่ จ.สมุทรปราการมีการลงคะแนนใหม่เพียง 3 เขต ดังนั้นต่อให้แพ้ทั้งหมดก็ยังได้นั่งนายก อบจ.สมุทรปราการอยู่ดี
สำหรับสาเหตุที่ กกต.ต้องให้ลงคะแนนใหม่ถึง 64 หน่วยเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะทุกหน่วยที่ กกต.ให้ลงคะแนนใหม่มีสาเหตุเหมือนกันทั้งหมด คือ คะแนนไม่ตรงกับผู้ใช้สิทธิ ปมเหตุที่คะแนนไม่ตรงกับผู้ใช้สิทธิก็เพราะเกิดความเข้าใจผิดเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้มี 2 ใบเหมือนทุกครั้ง คือ นายก อบจ. 1 ใบ และสมาชิก อบจ. 1 ใบ แต่ปัญหาเกิดจากเจ้าหน้าที่จ่ายบัตรเลือกตั้งเอง และมีหลายกรณีที่ประชาชนกา 1 ใบ และเก็บกลับบ้าน 1 ใบ เพราะคิดว่าเป็นใบต้นขั้ว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย กกต.จึงจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องในภายหลัง และการสั่งลงคะแนนใหม่ โดยไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัคร ซึ่งเรื่องทุจริตยังต้องรอว่าจะมีโดนสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในกี่จังหวัด
ทั้งนี้ เมื่อลงคะแนนใหม่แล้วทางเจ้าหน้าที่จะต้องนำคะแนนที่ได้มารวมกับคะแนนในหน่วยอื่นในจังหวัดนั้นๆ ที่ไม่ได้มีการประกาศให้มีการลงคะแนนใหม่ และในเงื่อนเวลากฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 กำหนดว่า เมื่อ กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จและประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งวันสุดท้ายของการประกาศผลคือ 18 ก.พ.64
โดยจังหวัดที่ถูก กกต.แขวนเพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตนั้น หากยังไม่แล้วเสร็จ ทาง กกต.จะประกาศรับรองผลไปก่อน 18 ก.พ.64 ตามกรอบเวลา ซึ่งถ้า กกต.พบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อวินิจฉัยสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิได้.