23 เม.ย. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 20,052 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ ATK 19,936 ราย รักษาหาย 22,361 ราย เสียชีวิต 129 ราย
23 เม.ย. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย (23 เม.ย. 65) ผู้ป่วยใหม่ 20,052 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ ATK 19,936 ราย รักษาหาย 22,361 ราย เสียชีวิต 129 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 188,342 ราย อยู่ใน รพ. 45,847 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 142,495 ราย มีอาการหนัก 1,962 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 921 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 25%
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 129 ราย มาจาก 42 จังหวัด กรุงเทพเสียชีวิตสูงสุด 21 ราย ตามด้วยกาฬสินธุ์ 9 ราย , นครราชสีมา 8 ราย , ร้อยเอ็ด 6 ราย , เลย 5 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจังหวัดละ 1-4 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียชีวิต 44 ราย ภาคกลางและตะวันออก 35 ราย ภาคเหนือ 16 ราย ภาคใต้ 8 ราย และปริมณฑล 5 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 70 ราย หญิง 59 ราย อายุ 1 – 102 ปี เฉลี่ย 75 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 98%
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กรุงเทพ 3,355 ราย 2.ขอนแก่น 1,015 ราย 3.สมุทรปราการ 717 ราย 4.ชลบุรี 699 ราย 5.นนทบุรี 689 ราย 6.ศรีสะเกษ 510 ราย 7.บุรีรัมย์ 476 ราย 8.นครราชสีมา 443 ราย 9.ร้อยเอ็ด 442 ราย และ 10.นครศรีธรรมราช 435 ราย สำหรับจังหวัดติดเชื้อเกิน 400 ราย มี 2 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 420 ราย ฉะเชิงเทรา 418 ราย และจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 23 จังหวัด ส่วนรายงาน 0 ราย มีจังหวัดลำพูน
สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 32 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 48 ราย ใน 21 ประเทศ โดยมาจากฝรั่งเศสมากที่สุด 8 ราย อังกฤษ 6 ราย สิงคโปร์ 5 ราย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศละ 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 46 ราย แซนด์บ็อกซ์ 1 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 1 ราย จากเมียนมา
สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-22 เม.ย. 2565 มีผู้เดินทาง 299,709 คน รายงานติดเชื้อ 1,493 คน คิดเป็น 0.5% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 284,462 คน ติดเชื้อ 1,317 คน คิดเป็น 0.46% แซนด์บ็อกซ์ 12,341 คน ติดเชื้อ 131 คน คิดเป็น 1.06% และกักตัว 2,906 คน ติดเชื้อ 45 คน คิดเป็น 1.55%
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 จำนวน 181,185 โดส สะสม 132,279,710 โดส เป็นเข็มแรก 56,108,304 ราย คิดเป็น 80.7% เข็มสอง 50,884,544 ราย คิดเป็น 73.2% และเข็ม 3 ขึ้นไป 25,286,862 ราย คิดเป็น 36.4%
เตียงผู้ป่วยโควิดยังพอ ลุ้นต่อถึงสิ้น เม.ย.
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ว่านพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ว่าขณะนี้อัตราการครองเตียง ทุกระดับภาพรวมอยู่ที่ 30% ส่วนเตียงเด็กอยู่ที่ 46% ทั้งนี้เป็นค่าเฉลี่ยของ 1 สัปดาห์หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตามถือว่าสถานการณ์การติดเชื้อในขณะนี้ถือว่า ไม่ได้พุ่งสูง หรือ อาจเพราะประชาชนป้องกันตนเองดี และส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่ได้มีการตรวจหาเชื้อ ดังนั้นต้องรออีก 1 สัปดาห์ หรือ ราวสิ้นเดือนเมษายน จึงจะสามารถระบุได้ชัดเจนว่า สงกรานต์มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะตัวผู้ป่วยอย่างไรก็ตามจะต้องสะท้อนออกมาอยู่ดี ตอนนี้ไม่สามารถระบุได้ว่า มีการส่งออกเชื้อไปต่างจังหวัดหรือจะมีการติดเชื้อในพื้นที่กทม.อีกหรือไม่
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ทางผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณาหารือปรับเกณฑ์การรับจ่ายยา โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิดใหม่ โดยไม่ได้กำหนดให้ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปอีกแล้ว แต่ให้กำหนดแค่อายุ 18 ปี ขึ้นไป พร้อมกับ 2 ปัจจัยเสี่ยงประกอบ ทั้งการมีโรคร่วม หรือ การได้รับวัคซีนไม่ครบ ก็สามารถรับยา พร้อมยืนยันการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เน้นคนที่มีอาการเท่านั้น โดยยาฟาวิพิราเวียร์ จะจ่ายให้กับกลุ่มคนที่มีอาการ เพื่อลดอาการรุนแรงให้อาการดีขึ้น และช่วยลดการแพร่เชื้อ ในคนที่มีอาการ ส่วนคนที่ไม่มีอาการก็อาจไม่ได้รับยา หรือรับประทานแค่ฟ้าทะลายโจร ส่วนยาเรมดีซีเวียร์ จะเน้นให้คนที่มีอาการรุนแรง ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาฉีด ส่วนคนที่มีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจให้ยา โมลนูพิราเวียร์ และ แพลกซ์โลวิด ส่วนยาสำหรับเด็กนั้น ปัจจุบันอนุญาตให้ใช้ฟาวิพิราเวียร์ แบบน้ำเท่านั้น หรือหากมีอาการหนักก็รับยาเรมดีซีเวียร์
นพ. สมศักด์ กล่าวว่าจากการเปรียบเทียบข้อมูลการป่วยและเสียชีวิตในเด็กระหว่างปี 2564 และปี 2565 พบการติดเชื้อและเสียชีวิต ไม่แตกต่าง ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยการเสียชีวิตระลอก เม.ย. 2564 อยู่ที่ 0.018% ขณะที่ ม.ค.2565 อยู่ที่ 0.017% ทั้งนี้เด็กเสียชีวิตระลอก ม.ค. 2565 พบว่าเป็นกลุ่มเด็กน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 50% และทั้ง 2 ระลอกพบเด็กเล็กทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วมประมาณ 32.7% นพ. สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับค่ายารักษาผู้ป่วยโควิดทุกรายการไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หลังพบกรณีสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมีการเรียกเก็บค่ายาฟาวิพิราเวียร์ เฉลี่ยเม็ดละ 50 บาท โดยผู้เสียหายสามารถร้องเรียนได้ที่ กรม สบส. เพื่อดำเนินการเอาผิด อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า การจ่ายยาเป็นเรื่องของดุลยพินิจของแพทย์ ไม่มีอาการไม่ต้องรับยา ส่วนกรณีที่มีคนซื้อหายาเอง ผ่านช่องทางออนไลน์ก็เช่นกัน ขอให้ระมัดระวัง เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาที่มีการจำหน่ายนั้น เป็นยาของจริง และยาที่ใช้หมดอายุหรือยัง จึงไม่ควรซื้อหายาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือบรรเทาอาการป่วยโควิดในช่องทางออนไลน์อย่างเด็ดขาด