



เมื่อปี พ.ศ. 2513 พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัดและได้นำมาเก็บรักษาไว้จนปี พ.ศ. 2521 นายวราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาและคณะกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจบริเวณนี้ และพบว่ากระดูกดังกล่าวเป็นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย-ฝรั่งเศสได้นำกระดูกเหล่านั้นไปศึกษา พบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2537 จึงได้สำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งจากการสำรวจครั้งนั้นได้พบฟอสซิลและโครงกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาขัว ยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปี นอกจากนี้ยังพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชมากกว่า 700 ชิ้น สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินพืชอย่างน้อย 7 ตัว โดยฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นของภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus Sirindhornae) โดยที่กระดูกยังคงเรียงรายต่อกันอยู่ในสภาพนอนคว่ำ กระดูกสันหลังตั้งขึ้น มีซี่โครงออกสองข้างลำตัว กระดูกสะโพกทุกชิ้นอยู่ในตำแหน่งเดิม กระดูกหางเรียงม้วนเป็นวงกลมพาดขึ้นไปกลางหลังและยาวต่อไปจนกระทั่งถึงปลายหาง แต่ขาท่อนหลัง ขาหน้าข้างขวา คอ และส่วนหัวหลุดกระจายออกไป จากการค้นพบครั้งสำคัญในเวลานั้น กรมทรัพยากรธรณีได้ก่อสร้างอาคารครอบแหล่งขุดค้นไว้ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาของไทย และได้นำไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม “สิรินธร” เป็นชื่อพิพิธภัณฑ์ และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2549 พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” และเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์สิรินธร แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 8 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 กำเนิดโลกและจักรวาล โซนที่ 2 กำเนิดสิ่งมีชีวิต โซนที่ 3 มหายุคพาลีโอโซอิก (วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ) โซนที่ 4 มหายุคมีโซโซอิก (โลกแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์) แบ่งโซนย่อยจัดแสดงเรื่องราวไดโนเสาร์ไทย โซนที่ 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์ โซนที่ 6 ปริศนาการสูญพันธุ์และคืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ โซนที่ 7 มหายุคซีโนโซอิก (มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และโซนที่ 8 เรื่องราวของมนุษย์ นอกจากนี้ยังสามารถชมหลุมขุดค้นซึ่งมีซากฟอสซิลจริงที่ขุดค้นพบเป็นครั้งแรกในบริเวณภูกุ้มข้าวได้อีกด้วย ที่ตั้ง : ภูกุ้มข้าว ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ เปิดให้เข้าชม : วันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.30-16.30 น. ค่าเข้าชม : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก (อายุ 12 ปี ขึ้นไป) 10 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก (อายุ 12 ปี ขึ้นไป) 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่เสียค่าเข้าชม สถานที่น่าสนใจใกล้เคียง (Kalasin Travel) วัดป่าสักกะวัน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิ์ผล พระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย สมัยทวารวดี วัดเวฬุวัน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ พระพุทธรูปปางนาคปรกที่มีลักษณะแปลก คือมีพญางู 7 ตัว 7 เศียร ซึ่งโดยมากจะมีลักษณะเป็นนาคตัวเดียว 7 เศียร พระพรหมภูมิปาโล ประดิษฐานอยู่บนยอดภูสิงห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระไสยาสน์ภูค่าว ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณภูค่าว พระไสยาสน์ภูค่าวมีลักษณะแตกต่างจากพระไสยาสน์ทั่วไป คือนอนตะแคงซ้ายและไม่มีพระเกตุมาลา อนุสาวรีย์พระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์คนแรก ถือเป็นสิงศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอสหัสขันธ์